|
. . <- ความรู้จาก NECTEC -> . .
ลองมาดูแนวโน้มอีเลิร์นนิ่งในประเทศแถบเอเชียกันบ้าง เว็บทีดีซีเทรดดอทคอม
(www.tdctrade.com) ได้รายงานถึงโอกาสของอีเลิร์นนิ่งในฮ่องกงไว้หลายประการ
เช่น ประการที่หนึ่ง อีเลิร์นนิ่งกลายเป็นแนวโน้มระดับโลกในอุตสาหกรรมการศึกษา
ประการที่สององค์กรต่าง ๆ จะจัดให้มีหลักสูตรออนไลน์ ประการที่สาม
กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนเงินทุนในด้านไอทีเพื่อการศึกษามากขึ้น
ประการที่สี่ ประสบการณ์การพัฒนาอีเลิร์นนิ่งในฮ่องกงจะช่วยเป็นกำลังสนับสนุนสำหรับตลาดการศึกษาในจีน
รีด เอส เกตเทอร์ รองประธานฝ่ายการตลาดของบริษัทดิจิตอลธิ้งค์
ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านอีเลิร์นนิ่ง รับปรึกษาและแก้ปัญหาธุรกิจผ่านทางระบบอีเลิร์นนิ่ง
ได้คาดการณ์แนวโน้มของอีเลิร์นนิ่งในปี 2547 ไว้ 5 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง คอร์สแวร์การศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่งจะมีการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับสื่อการสอนแบบอีเลิร์นนิ่ง
ประการที่สอง ผู้บริโภคจะเลือกจ้างหน่วยงานภายนอกจัดบริการอีเลิร์นนิ่งให้
แทนที่จะดำเนินการด้านอีเลิร์นนิ่งเอง ประการที่สาม ผู้บริโภคจะจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในด้านอีเลิร์นนิ่งมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการเติบโตมากขึ้น ประการที่สี่ จะมีการใช้แบบจำลองในด้านอีเลิร์นนิ่งมากขึ้น
ประการที่ห้า จะมีการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งตามความต้องการของลูกค้ามากกว่าการเรียนในห้องเรียน
เกตเทอร์ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2546 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่เน้นไปในด้านผู้เรียนและการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้และทักษะแก่ผู้เรียน
สำหรับในปี 2547 นี้ ก็จะยิ่งให้ความสำคัญในสองสิ่งนี้เพิ่มขึ้นไปอีก
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตลาดโลกจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบเดิมให้ดียิ่งขึ้น
รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักวิจัยไอีดีซี
(IDC) ได้ทำนายตลาดการศึกษาระดับสูงในอเมริการไว้ว่า ปลายปี
2547 ร้อยละ 90 ของวิทยาลัยทั้งหมดในอเมริกาจะมีหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง
จากที่เคยสำรวจพบเพียงร้อยละ 47 ในปี 2543 นอกจากนี้ สำนักวิจัยไอดีซี่ยังได้คาดการณ์
การเติบโตของอุตสาหกรรมอีเลิร์นนิ่งในส่วนของตลาดอีเลิร์นนิ่งสำหรับบริษัท
ห้างร้านว่า ปี 2547 จะเป็นปีที่บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุนอีเลิรนนิ่ง
โดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยประมาณการไว้ว่า ตลาดอีเลิร์นนิ่งของโลก เฉพาะการฝึกอบรมพนักงานบริษัท
ห้างร้านต่าง ๆ จะเป็น 23,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 924,300
ล้านบาท ในปี 2549 เทียบกับ 6,600 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 257,400
ล้านบาทในปี 2545 ส่วนในญี่ปุ่น มีรายงานว่า ตลาดอีเลิร์นนิ่งสำหรับบริษัท
ห้างร้านต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงกว่าที่ไอดีซีทำนายไว้ถึงประมาณ
7 เท่า นั่นคือ ประมาณ 7 ล้านล้านบาท เมื่อได้อ่านรายงานของสำนักข่าว
สำนักวิจัย และความเห็นของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอีเลิร์นนิ่งแล้ว
ก็พอจะมองเห็นอนาคตอันรุ่งโรจน์ของอีเลิร์นนิ่ง ว่าหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ
และต่างตั้งหน้าหน้าตั้งตามุ่งพัฒนาอีเลิร์นนิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการศึกษา
เพื่อให้อุตสาหกรรมการศึกษาของประเทศทันสมัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย จะทำให้พลเมืองในประเทศได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
มีโอกาสศึกษาถึงระดับสูงได้ นอกจากการศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับสูงแล้ว
อีเลิร์นนิ่งสำหรับฝึกอบรมพนักงานบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่สดใสเช่นกัน
หลายบริษัทนำอีเลิร์นนิ่งไปใช้อบรมพนักงานแล้ว และอีกหลายบริษัทก็เริ่มนำอีเลิร์นนิ่งมาใช้เช่นกัน
|
|
|