ทุนอุดหนุนการวิจัย ประเภทนักวิชาการ และนักวิจัย
ชื่อแหล่งทุน
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างนักวิจัยทางด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้มีการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่นวัตกรรม หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา
3. เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาหันมาสนใจการทำวิจัยทางด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
เงื่อนไข
เนื่องจากปัจจุบันการผลิตงานวิจัยด้านการประกันคุณภาพการศึกษายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก อีกทั้งเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาได้รับความสนใจ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งทุกหน่วยงาน หรือทุกองค์กรทางด้านการศึกษาต้องรับรู้ และทำความเข้าใจกับเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาจึงเห็นความสำคัญในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา จึงมีความต้องการสนับสนุนทุนวิจัยในด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ในหัวข้อการประกันคุณภาพภายใน และภายนอก โดยเฉพาะการวิจัยในระดับความเป็นเหตุเป็นผล การวิจัย และพัฒนาหลักการ รูปแบบ และวิธีการประกันคุณภาพภายในและภายนอก เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ลักษณะโครงการวิจัย
หัวข้อการวิจัย สมศ.ได้จัดเป็น ?ชุดโครงการวิจัย? ซึ่งผู้สนใจสามารถนำเสนอโครงการวิจัยได้ 2 รูปแบบ คือ 1) การเสนอโครงการวิจัยเป็นชุดโครงการวิจัย โดยจัดทีมวิจัยในการศึกษาทั้ง1ชุดโครงการนั้น และ 2) การเสนอโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัย โดยนำเสนอหัวข้อการวิจัยในระดับย่อยที่ระบุไว้ในแนวทางของแต่ละชุดโครงการ ดังนี้

1. ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- ประเภทการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ประเภทการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษา
- ประเภทการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา การอาชีวศึกษา
- ประเภทการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา ในการศึกษาเฉพาะทาง
- ประเภทการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการงานด้านการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษา ในการจัดการศึกษาทั่วไป
แนวทางการสร้างองค์ความรู้ เช่น
- การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการประกันคุณภาพการศึกษาระดับชาติและผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาของชาติ
- การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไก มาตรฐานตัวบ่งชี้และเกณฑ์ของการประกันคุณภาพการศึกษาระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ
- การวิจัยเพื่อพัฒนายุทธวิธีที่จะทำให้เกิดการใช้ผลการวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ
- การวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดล หรือทฤษฎีว่าด้วยการประกันคุณภาพ การศึกษาจากการศึกษาบริบท และสภาพความเป็นจริงของการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาในสังคมไทย
2. ชุดโครงการวิจัยภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
เน้นการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแนวคิดด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาไทย ที่นำมาประยุกต์ในการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา แนวทางการสร้างองค์ความรู้ เช่น
- การวิจัยเกี่ยวกับปรัชญา คุณค่า กระบวนทัศน์และแนวความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
- การวิจัยเกี่ยวกับปรัชญาและกระบวนทัศน์เกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 5
3. ชุดโครงการวิจัยเชิงเปรียบเทียบระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
เน้นการศึกษาในเชิงการศึกษาเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ เช่น ในแถบทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย เพื่อนำส่วนที่ดีและ เป็นประโยชน์มาใช้พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาไทย และพึงระวังในบทเรียนที่ประเทศต่างๆ ต้องตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
แนวทางการสร้างองค์ความรู้ เช่น
- การวิจัยเปรียบเทียบระบบการประกันคุณภาพการศึกษาระหว่างประเทศ ในแถบทวีปยุโรป กับ ประเทศในแถบทวีปเอเชีย
- การวิจัยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของการประเมินคุณภาพการศึกษา ที่ดำเนินการในต่างประเทศ
- Benchmarking และ Best Practices ในการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ

คุณสมบัติผู้รับทุน
1. เป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือนิสิต/นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา
2. เป็นผู้ดำเนินการวิจัยด้วยตนเอง
3. มีความสามารถเกี่ยวกับการวิจัยในสาขาที่ขอรับทุน
4. สามารถปฏิบัติงานได้ตลอดเวลาที่ได้รับทุน
วิธีเสนอโครงการ
1. การเสนอโครงการวิจัยเป็นชุดโครงการวิจัย สมศ.จะมีกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับผู้วิจัย โดยผู้วิจัยต้องส่งข้อเสนอเอกสารเชิงหลักการ (Concept paper) มายัง สมศ. จำนวน 10 ชุด หลังจากนั้น สมศ. จะพิจารณาเอกสารเชิงหลักการในแง่ของความสอดคล้องกับกรอบแนวคิด และวัตถุประสงค์ของชุดโครงการ เมื่อผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว สมศ.จะแจ้งให้ผู้วิจัยทราบโดยจะเชิญผู้วิจัยร่วมตั้งโจทย์การวิจัย กับ สมศ. เพื่อสร้างความชัดเจนของกรอบแนวคิดในการทำการวิจัย แล้วผู้วิจัยจึงยื่นข้อเสนอโครงการฉบับเต็ม ตามแบบเสนอโครงการวิจัย (แบบ ร.1) จำนวน 10 ชุด มายัง สมศ.
2. การเสนอโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการ ผู้วิจัยต้องยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการ ตามแบบเสนอโครงการวิจัย (แบบ ร.1) จำนวน 10 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วย หน้าสรุปโครงการและข้อเสนอโครงการ มายัง สมศ.
งบประมาณ
สนับสนุนเงินไม่เกิน 300,000 บาท
กรณีเสนอเป็นชุดโครงการวิจัยสนับสนุนเงินตามมติของคณะอนุกรรมการฯ
ระยะเวลาขอรับทุน
ตลอดปีงบประมาณ
หน่วยงานที่ติดต่อได้

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ชั้น 5 อาคาร เอส พี 388 ถนนพหลโยธิน สามเสนใน พญาไท กรุงเทพ 10400
โทร. 0-2273-0755 โทรสาร 0-2273-0794-5 E-mail: info@onesqa.or.th

เอกสาร
แบบเสนอโครงการวิจัย (แบบ ร.1) เพื่อขอรับทุนอุดหนุนการวิจัย